ทำความเข้าใจและวิธีใช้ Term Sheet ยังไงไม่ให้เสียเปรียบในทางธุรกิจ
เชื่อว่าหลายคนที่อยู่ในแวดวง Startup หรือ SME คงเคยได้ยินคำว่า “Term Sheet” มาบ้าง หากคุณเป็น Founder หรือนักลงทุนคุณมักจะได้เจอ Term Sheet อยู่บ่อยครั้งในการระดมทุน
ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ Term Sheet คือ ข้อตกลงเบื้องต้นที่ตกลงร่วมกันระหว่าง Startup กับนักลงทุนเพื่อกำหนดข้อตกลงทางธุรกิจและเงื่อนไขการลงทุนที่สำคัญก่อนที่จะเข้าทำสัญญาลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น Term Sheet ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่เป็นเพียงข้อตกลงเบื้องต้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น เราจะมาหาคำตอบกันว่า Term Sheet คืออะไร Founder ควรระมัดระวังในการเจรจากับนักลงทุนในเรื่องใดบ้าง
โดยส่วนใหญ่แล้ว Term Sheet จะกำหนดข้อเสนอของการลงทุน รายละเอียดการเข้าลงทุนของผู้ลงทุน วัตถุประสงค์ในการใช้เงินลงทุน และสิทธิหน้าที่ของผู้ลงทุนที่สำคัญ
การประเมินมูลค่าของกิจการ (Business Valuation) เป็นหัวใจในการเข้าร่วมลงทุน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจะใช้วิธีประเมินมูลค่าหลายวิธีที่เหมาะสมกับกิจการ เช่น วิธีการต้นทุน (Cost Approach) วิธีการเปรียบเทียบกับตลาด (Market Approach) วิธีอัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อยอดขาย (EV-to-Sales Approach) หรือวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ (Discounted Cash Flow Approach) ซึ่งแต่ละวิธีจะมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการประเมินมูลค่าของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นทีมผู้บริหาร แนวโน้มของตลาด ความต้องการผลิตภัณฑ์ ธุรกิจคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้น
ประเภทตราสารที่ลงทุน (Investment Instrument) ส่วนใหญ่นักลงทุนจะลงทุนเป็นหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Share) เพราะผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินที่ ลงทุนคืนก่อนผู้ถือหุ้นประเภทอื่น เมื่อบริษัทมีการจ่ายปันผล หรือ เลิกกิจการ หรือจะลงทุนเป็นหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) ซึ่งเปรียบเสมือนการให้กู้ยืมเงิน ซึ่ง Startup จะมีสถานะเป็นลูกหนี้ เมื่อถึงกำหนดเวลา ผู้ถือหุ้นกู้แปลงสถาพจะสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นของบริษัทได้ โดยจะมีการตกลงราคาหุ้นที่จะแปลงสภาพกันไว้
สิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity) เมื่อนักลงทุนกับ Startup ได้มีการตกลงและลงนามใน Term Sheet กันแล้ว Startup ตกลงที่จะทำงานร่วมกับผู้ลงทุนแต่เพียงผู้เดียว โดยตกลงที่จะไม่เจรจาการลงทุนกับนักลงทุนรายอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อที่นักลงทุนจะได้มีระยะเวลาในการพิจารณาการลงทุนที่เพียงพอ และเพื่อป้องกันไม่ให้ Startup เอาราคาลงทุนที่นักลงทุนเสนอ ไปเจรจาต่อรองกับนักลงทุนรายอื่น
เรื่องที่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นพิเศษ (Reserved Matters) ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่จะตกลงกันใน Term Sheet เพื่อควบคุมการดำเนินการของ Startup โดยกำหนดให้กิจการบางอย่างต้องได้รับความเห็นชอบจากนักลงทุนก่อน ส่วนมากจะเป็นการดำเนินการในเรื่องใด ๆ ที่ไม่เป็นปกติทางการค้าของธุรกิจ เช่น การใช้เงินหรือกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมาก การขายทรัพย์สินที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ การออกหุ้นใหม่ รวมไปถึงการควบรวมกิจการ เป็นต้น ทั้งนี้ Startup ก็ควรใช้ความระมัดระวังในการเจรจา Reserved Matters ให้กำหนดเฉพาะเรื่องใด ๆ ที่ไม่เป็นปกติทางการค้าของธุรกิจของ Startup จริง ๆ เท่านั้น มิเช่นนั้นแล้ว หากจะต้องรอการอนุมัติจากนักลงทุนก่อนในทุกๆ เรื่อง การดำเนินงานทั่วไปของบริษัทจะขาดสภาพคล่องและไม่สามารถแข่งขันกับ Startup รายอื่น ๆ ได้ทัน
คณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) ก็มีความสำคัญและไม่ควรมองข้าม เนื่องจากผู้ลงทุนมีสิทธิที่จะส่งตัวแทนของผู้ลงทุนเพื่อ เข้าเป็นกรรมการในบริษัท แต่ Founder หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Startup ก็ยังควรมีส่วนร่วมในการบริหารบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าการ ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ Startup อย่างแท้จริง
เงื่อนไขบังคับก่อน (Conditions Precedent) การเข้าลงทุนจะขึ้นอยู่กับความพอใจในการตรวจสอบสถานะของธุรกิจ ไม่ว่าจะด้านการเงินและกฎหมาย โดยนักลงทุนจะกำหนดเงื่อนไขที่บริษัทจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนก่อนจึงจะอนุมัติเงินลงทุนแก่ Startup อาทิ การได้รับอนุมัติที่จำเป็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการเข้าทำธุรกรรมของผู้ลงทุน การลงนามในสัญญาที่เกี่ยวข้อง เช่น สัญญาจองซื้อหุ้น และสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น (Shareholders Agreement) เป็นต้น และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในธุรกิจของบริษัทนับแต่วันที่ตกลงทำ Term Sheet จนถึงวันที่จะเข้าทำสัญญาการลงทุน
สิทธิในการได้รับเงินคืนก่อน (Liquidation Preference) เป็นอีกข้อกำหนดที่สำคัญเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแก่นักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Startup ที่มีความเสี่ยงสูง หากเกิดเหตุการณ์ให้ต้องเลิกบริษัท (Liquidation Event) นักลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะมีสิทธิในการได้รับเงินหรือผลตอบแทนจากการเลิกบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ อย่างไรก็ดี Founder หรือผู้ถือหุ้นใน Startup ก็ควรให้ความสำคัญในการเจรจาข้อกำหนดนี้เช่นกัน เพราะหากเกิดกรณีที่จะต้องขายกิจการของบริษัท หรือ Startup มีมูลค่าไม่สูงพอ ข้อกำหนดนี้อาจทำให้บริษัทไม่มีเงินหรือผลตอบแทนเหลือแก่ Founder หรือผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ
รายละเอียดข้างต้นหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการเจรจาข้อกำหนดต่าง ๆ ใน Term Sheet เท่านั้น Founder ควรใช้ความระมัดระวังในการตกลงข้อกำหนดต่าง ๆ ใน Term Sheet กับผู้ลงทุน เมื่อตกลงกันได้แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า การตรวจสอบสถานะของกิจการ (Due Diligence) ตลอดระยะเวลาที่ผู้ลงทุนได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว หากไม่ได้มีข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ สัญญาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นสัญญาลงทุนและ สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นก็มักจะอ้างถึง Term Sheet ตามที่ได้ตกลงกันไว้ร่วมกัน