การเสียภาษีเงินได้กับสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย

S  16654338

สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ได้รับความนิยมและมีผู้ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดทั่วโลกสูงกว่า 66 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยเหรียญชื่อดังที่ผู้คนให้ความนิยม 2 สกุล ได้แก่ บิตคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอร์เลียม (Ethereum) รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Non Fungible Token (NFT) ที่กำลังเป็นที่นิยมและผู้คนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

ข้อมูลจากสำนักข่าวบางกอกโพสต์เมื่อต้นปี 2564 พบว่าในประเทศไทยมีการซื้อขายแลกเปลี่ยน คริปโทเคอร์เรนซี มูลค่าสูงถึง 14.8 พันล้านบาท ระหว่างนักลงทุนไทยกลุ่มหนึ่ง และบรรดานักลงทุนไทยที่อยู่ในตลาดและนักลงทุนรายใหม่ก็ยังให้ความสนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล

เมื่อพิจารณาถึงการเสียภาษีเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล หลายคนอาจเคยได้ยินว่าประเทศไทยมีกฎหมายจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ของบุคคลธรรมดา ตั้งแต่ปี 2561 แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการเสียภาษีที่ชัดเจน รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับนิติบุคคลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกตามมาเป็นการเฉพาะ

กุดั่น แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จึงขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มาคุยกันพร้อมทั้งเสนอประเด็นกฎหมายภาษีในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนเข้าใจการเสียภาษีเงินได้เมื่อมีการได้มา ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างถูกต้องรวมถึงฝากประเด็นให้ภาครัฐพิจารณาออกกฎหมายให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกรรมในอนาคตในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

กฎหมายไทยนิยามสินทรัพย์ดิจิทัลไว้อย่างไร

เมื่อปี 2561 ได้มีการออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งได้กำหนดนิยามของคำว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล” และคำที่เกี่ยวข้องไว้ ได้แก่

สินทรัพย์ดิจิทัล หมายถึง คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล

คริปโทเคอร์เรนซี หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศกำหนด

โทเคนดิจิทัล หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อ

o กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการใด ๆ

o กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือและให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด

เงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลและการเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร

ประมวลรัษฎากรได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดลักษณะของเงินได้พึงประเมิน และการเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อปี 2561 โดยบัญญัติให้เงินหรือผลประโยชน์ดังต่อไปนี้ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ตามกฎหมาย

● เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือครองหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล (มาตรา 40(4)(ซ))

● ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (มาตรา 40(4)(ฌ))

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลข้างต้นให้แก่บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน ในปีปฏิทิน มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ (มาตรา 50(2)(ฉ))

ประเด็นภาษีที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล

ประเด็นภาษีเงินได้ที่ควรพิจารณาสำหรับเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น

● กฎหมายกำหนดให้เงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4) ประเภทเดียวกับเงินได้ที่เป็น ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุน (Capital gain) หรือเงินได้ประเภท passive income อื่น ซึ่งเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับสิทธิในการหักค่าใช้จ่าย
ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

● บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องนำเงินได้นั้นไปรวมคำนวณในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

● ผู้จ่ายเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ถ้าผู้รับเงินได้เป็นบุคคลธรรมดา ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ไม่ว่าบุคคลธรรมดานั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม โดยบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยสามารถนำภาษีที่ถูกหัก ใช้เป็นเครดิตภาษีในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี หากผู้จ่ายเงินได้ไม่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากร ผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีดังกล่าว และยังต้องเสียเงินเพิ่มแก่กรมสรรพากร ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของจำนวนภาษีที่ต้องนำส่งกรมสรรพากรด้วย

● กรณีผู้จ่ายเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล ให้แก่บริษัทหรือนิติบุคคลที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 และนำส่งกรมสรรพากรตามกฎหมาย

นอกจากนี้ กรณีที่ผู้มีเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นนิติบุคคลไทย มีข้อพึงพิจารณาเกี่ยวกับมูลค่าและการตีราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผลต่อการเสียภาษีเงินได้ของนิติบุคคล เช่น

● มูลค่าที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่นิติบุคคลนั้นลงทุนหรือถือครอง แม้จะยังไม่มีการขายหรือจำหน่ายสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชีของบริษัทก็ตาม

● การตีราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาท ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัท เนื่องจากปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยก็กำหนดมูลค่าเป็นเงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่เงินบาท

บทสรุป

จากข้อสังเกตทางกฎหมายข้างต้น กฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย ยังคงต้องมีการออกมาตรการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมในไม่ช้านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้นและเพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีผู้เสียภาษีต่อไป

สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนภาษีเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถติดต่อได้ที่ Tax Practice Group ของกุดั่น แอนด์ พาร์ทเนอร์ส หรือติดต่อกับผู้เขียนโดยตรง


เกี่ยวกับเรา

Tax Practice Group

ธุรกิจมักต้องการการวางแผนโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสำเร็จในระยะยาว เป้าหมายหลักของเราคือการให้ “บริการแบบครบวงจร”ซึ่งเราสามารถเชื่อมต่อกับแนวปฏิบัติอื่น ๆ ได้อย่างราบรื่นเพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมที่สุดแก่ลูกค้าของเรา

เรามีประสบการณ์มากมายในด้านภาษีที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ การปรับโครงสร้าง การกำหนดราคาโอน และการบริหารความมั่งคั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกค้าต้องเผชิญกับธุรกิจรูปแบบใหม่การเสนอขายหุ้น IPO ตลอดจนการซื้อหรือขายสินทรัพย์เพื่อให้มั่นใจในการเพิ่มประสิทธิภาพและการลดหย่อนภาษี เราดำเนินการตรวจสอบสถานะเพื่อพิจารณาว่าการวางแผนภาษีมีความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งลูกค้าของเราอาจจะไม่ทราบถึงสิทธิพิเศษทางภาษีที่ควรจะได้รับ

ลูกค้าของเราครอบคลุมในหลายกลุ่มธุรกิจ; บริษัท ธุรกิจครอบครัว และนักลงทุนรายใหญ่ และรายใหญ่พิเศษ ซึ่งเราเชื่อว่าลูกค้าต้องการบริการที่เอาใจใส่และทีมงานที่ตอบสนองอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นและได้รับการยอมรับ

Download AlertDownload Alert